ค้นหาบล็อกนี้

Hotel Promotion

วันพุธที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2553

อุทยานแห่งชาติศรีลานนา

อุทยานแห่งชาติศรีลานนา
ข้อมูลทั่วไป
อุทยานแห่งชาติศรีลานนา มีพื้นที่รับผิดชอบ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่แตง อำเภอเชียงดาว อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วยสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์และเป็นป่าต้นน้ำลำธารที่สำคัญของแม่น้ำปิงตอนบน มีสัตว์ป่า นานาชนิด และจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงาม เช่น น้ำตกม่อนหินไหล อ่างเก็บน้ำของเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เป็นอุทยานแห่งชาติ 1 ในจำนวน 5 แห่ง ของโครงการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ เพื่อการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ วันที่ 5 ธันวาคม 2530 มีเนื้อที่ประมาณ 878,750 ไร่ หรือ 1,406 ตารางกิโลเมตร
เดิมบริเวณที่ดินป่าเชียงดาว ป่าแม่งัด และป่าแม่แตง จัดเป็นป่าต้นน้ำลำธารชั้น 1 ตามมติคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 14 มกราคม 2518 และเป็นป่าปิดตามมติคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 9 มกราคม 2522 ในเดือนมีนาคม 2524 กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้มีคำสั่งที่ 280/2524 ลงวันที่ 6 มีนาคม 2524 ให้นายสันติ สีกุหลาบ นักวิชาการป่าไม้ 4 ออกไปสำรวจและเก็บข้อมูลพื้นที่ป่าบริเวณดอยเวียงผา จังหวัดเชียงใหม่ ตามที่ นายอรุณ สำรวจกิจ มีจดหมายลงวันที่ 14 มกราคม 2524 ถึงอธิบดีกรมป่าไม้
ต่อมาในเดือนมกราคม พ.ศ. 2526 กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้มีคำสั่งที่ 1/2526 ลงวันที่ 3 มกราคม 2526 ให้นายไมตรี อนุกูลเรืองกิจ เจ้าพนักงานป่าไม้ 3 ไปสำรวจหาข้อมูลเพิ่มเติมบริเวณดอยเวียงผา และบริเวณน้ำตกม่อนหินไหล จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อนำมาเป็นข้อมูลจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งต่อมากองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้มีคำสั่งที่ 293/2528 ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2528 ให้นายอรุณ เหลียววนวัฒน์ นักวิชาการป่าไม้ 4 ไปดำเนินการสำรวจและจัดตั้งบริเวณป่าแม่กอง ป่าแม่งัด ป่าเชียงดาว และป่าฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอุทยานแห่งชาติ ผลการสำรวจตามรายงานหนังสือ ที่ กษ 0713(ดก)/1 ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2528 ปรากฏว่า พื้นที่การสำรวจทั้งหมดอยู่ในพื้นที่ป่าแม่แตง (บางส่วน) ป่าแม่งัด (บางส่วน) และป่าเชียงดาว (บางส่วน) มีสภาพป่าและธรรมชาติเหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ
กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ มีมติในการประชุมครั้งที่ 2/2529 เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2529 เห็นชอบให้ดำเนินการจัดตั้งพื้นที่บริเวณป่าเหนืออ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอุทยานแห่งชาติเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนพรรษา 5 รอบ กองอุทยานแห่งชาติ ได้จัดตั้งบริเวณดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยใช้ชื่อว่า “อุทยานแห่งชาติศรีลานนา” และเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2529 ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางตรวจเยี่ยมอุทยานแห่งชาติศรีลานนา จังหวัดเชียงใหม่ เห็นชอบกับโครงการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติดังกล่าว ทั้งได้มีบัญชาและกำชับว่า “ให้ดูแลรักษาป่าให้ดีอย่าปล่อยให้มีการบุกรุกทำลายจนสภาพป่าไม้ธรรมชาติสวยงาม และสิ่งแวดล้อมต้องสูญเสียไป” ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้รับทราบโครงการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติเพื่อเฉลิมพระเกียรติแล้ว ตามหนังสือสำนักเลขาธิการรัฐมนตรี ที่ นร 0202/21487 ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2530
ส่วนอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ดำเนินการออกประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าเชียงดาว ป่าแม่งัด และป่าแม่แตง ในท้องที่ตำบลปิงโค้ง ตำบลเชียงดาว ตำบลแม่นะ อำเภอเชียงดาว ตำบลสันทราย ตำบลป่าไหน่ ตำบลบ้านโป่ง ตำบลน้ำแพร่ ตำบลป่าตุ้ม ตำบลแม่แวน ตำบลแม่ปั๋ง ตำบลโหล่งขอด อำเภอพร้าว ตำบลบ้านเป้า ตำบลช่อแล ตำบลแม่หอพระ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ให้เป็นอุทยานแห่งชาติตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 106 ตอนที่ 120 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2532 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 60 ของประเทศ มีเนื้อที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของภาคเหนือ หรือใหญ่เป็นอันดับ 8 ของประเทศ

ลักษณะภูมิประเทศ
สภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูง สลับซับซ้อน ติดต่อกันกว้างขวางของทิวเขาผีปันน้ำ ประกอบด้วย ดอยเวียงผา ดอยหลวง ดอยปุย ดอยปันวา ดอยผาเกี๋ยง ดอยขุนโก๋น ดอยแม่ระงอง ดอยแม่แงะ และดอยโตน มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 400-1,718 เมตร โดยมียอดดอยจอมหด เป็นยอดดอยที่สูงที่สุดในเขตอุทยานแห่งชาติ เป็นต้นน้ำลำธารของลำห้วยต่างๆ ที่ไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล และแม่น้ำปิงตอนบน ได้แก่ น้ำแม่งัด น้ำแม่โก๋น น้ำแม่แวน น้ำแม่สะรวม น้ำแม่ธาตุ และน้ำแม่ขอด

ลักษณะภูมิอากาศ
ลักษณะภูมิอากาศในเขตอุทยานแห่งชาติศรีลานนา อยู่ในภูมิอากาศแบบฝนตกชุกสลับแห้งแล้งในเขตร้อน แบ่งออกเป็น 3 ฤดูกาล คือ ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน-เดือนตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,156 มิลลิเมตรต่อปี ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-เดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม-เดือนพฤษภาคม อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 26 องศาเซลเซียส

พืชพรรณและสัตว์ป่า
สังคมพืชในอุทยานแห่งชาติศรีลานนาประกอบด้วย
ป่าเต็งรัง เป็นสังคมพืชที่ปกคลุมพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติมากที่สุด กระจายอยู่ในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 200-1,200 เมตร และในระดับ 800-1,200 เมตร จะพบสนสองใบและสนสามใบขึ้นปะปนกับป่าเต็งรัง พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ เต็ง รัง เหียง พลวง รักใหญ่ เคาะ ก่อแพะ เหมือดหลวง ฯลฯ พืชพื้นล่างได้แก่ กระเจียวแดง เครือข้างครั่ง พ่อค้าตีเมีย ย่านลิเภา เฟินก้านดำ มะแฮะนก เขิงแข้งม้า เครือเดา เอื้องสาย เอื้องผา และเอื้องม้าวิ่ง เป็นต้น

ป่าเบญจพรรณ พบอยู่ตามพื้นที่หุบเขาหรือริมห้วย พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ สัก มะแฟน รกฟ้า ตะคร้อ แสลงใจ เครือไหล เปล้าหลวง ตะแบกใหญ่ ปอยาบ ไผ่ซาง ไผ่ข้าวหลาม ไผ่บงป่า ไผ่ไร่ และไผ่รวก ฯลฯ พืชพื้นล่างได้แก่ ขมิ้นป่า เฟิน ว่านสากเหล็ก เองหมายนา บุกคางคก เป็นต้น

ป่าดิบแล้ง พบขึ้นอยู่ตามร่องห้วยและหุบเขาที่ชื้นอยู่ตลอดปี พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ ยางแดง มะเม่าสาย ตะแบกเปลือกบาง มะตาด ดำดง เลือดควายใบใหญ่ ไผ่หอบ ไผ่หก ต๋าว ฯลฯ พืชพื้นล่างได้แก่ เครือไหล ก๋าวเครือ หนามปู่ย่า เครือพันซ้าย เครือนมวัว หยั่งสมุทร หวาย ข่าป่า เป็นต้น

ป่าสนเขา พบตามสันเขาที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 800 เมตรขึ้นไป พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ สนสองใบ สนสามใบ ดาวราย ก่อหมาก มะม่วงหัวแมลงวัน ส้มปี้ แข้งกวาง ฯลฯ พืชพื้นล่างได้แก่ อ้าหลวง หนาดคำ ย่านลิเภา เฟินก้านดำ เป็นต้น

ป่าดิบเขา ขึ้นปกคลุมพื้นที่ชุ่มชื้นและเย็นตามขอดเขาที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,000 เมตรขึ้นไป พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ ทะโล้ กำยาน หน่วยนกงุ้ม มะห้า รักเขา มันปลา ก่อพวง ก่อขาว มะขามแป ฯลฯ พืชพื้นล่างได้แก่ กระเจียวแดง เครือข้างครั่ง พ่อค้าตีเมีย ย่านลิเภา เฟินก้านดำ มะแฮะนก และหญ้าต่างๆ เป็นต้น

สัตว์ป่าประกอบด้วย เก้ง อ้นกลาง เม่นหางพวง หมาไน ชะมดเช็ด อีเห็นเครือ แมวป่า กระต่ายป่า กระรอกหลากสี หนูท้องขาว ค้างคาวขอบหูขาวกลาง ค้างคาวหน้ายาวใหญ่ นกกะลิงเขียด นกกาแวน อีกา นกจับแมลงจุกดำ นกขมิ้นน้อยธรรมดา นกนิลตวาท้องสีส้ม นกกางเขนดง นกยอดหญ้าหัวดำ นกกระจิบธรรมดา นกกระจิ๊ดเขียวปีกสองแถบ นกกินแมลงป่าอกสีน้ำตาล งูทางมะพร้าวลายขีด งูสิงบ้าน จิ้งจกดินจุดลาย ตุ๊กแกบ้าน กิ้งก่าบินคอสีส้ม กบบัว เขียดจะนา อึ่งอ่างบ้าน อี่งแม่หนาว คางคกบ้าน ปาดแคระป่า เป็นต้น ในบริเวณที่ลุ่ม แหล่งน้ำ และอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและหากินของสัตว์น้ำและสัตว์ป่าหลากชนิด ได้แก่ นกกะเต็นน้อยธรรมดา นกเป็ดแดง กบนา กบหนอง อึ่งอี๊ดข้างขีด ปลาจาด ปลาแม่แปป ปลาซิวหนวดยาว ปลาเวียน ปลาเข็ม ปลาบู่ ปลาสร้อยขาว
ต้องขอขอบคุณ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธ์พืช , www.mistertour.com และ www.siamsouth.com สำหรับข้อมูลและรูปภาพที่มีประโยชน์ต่อบุคคลที่ต้องการท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อน หรือ ต้องการข้อมูลเพื่อการศึกษา สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

อุทยานแห่งชาติศรีลานนา
ต.บ้านเป้า อ. แม่แตง จ. เชียงใหม่ 50150
โทรศัพท์ 0 5347 9090, 0 5347 9079 โทรสาร 0 5347 9090 อีเมล reserve@dnp.go.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น