ค้นหาบล็อกนี้

Hotel Promotion

วันจันทร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ห้วยตึงเฒ่า

                                                         อ่างเก็บน้ำห้วยตึงเฒ่า

     
       ตั้งอยู่ ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม  เป็นโครงการหมู่บ้านตัวอย่างตามพระราชดำริ  และจัดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวให้กับนักเดินทางจากต่างจังหวัดและคนในพื้นที่ซึ่งตั้งอยู่ในเขตทหาร  อ่างเก็บน้ำหัวยตึงเฒ่าได้ก่อสร้างขึ้นตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ  เพื่อแก้ไขการขาดแคลนน้ำในการใช้สอยหรือทางศูนย์เกษตรกรรมทหารฯ  และประชาชนใกล้เคียง  บริเวณอ่างเก็บน้ำมีหาดทรายคล้ายกับทะเลสามารถเล่นน้ำได้และยังมีการบริการต่างๆ เช่น ห่วงยาง , เรือพาย , จักรยานน้ำ เป็นต้น 

มีร้านอาหารซุ้มเเพตกปลาในบริเวณสันเขื่อน และยังมีซุ้มนั่งรับประทานอาหารแบบธรรมชาติที่เราสามารถเห็นบรรยากาศของอ่างเก็บน้ำห้วยตึงเฒ่าได้เป็นอย่างดี

ส่วนกิจกรรม

มีการกระโดดหอ  เกมส์โซน  เพ้นท์บอล  รถเอทีวี เเละเครื่องเล่นต่างๆ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมค่ายพักแรม

ที่พัก

จะเป็นบ้านพักและเป็นลานกางเต็นท์สำหรับสัมผัสกับธรรมชาติได้อย่างลึกซึ้ง

ค่าธรรมเนียม
คนละ 20 บาท (ไม่เสียค่ารถเข้า)

        ถ้าท่านเริ่มสนใจในสถานที่แห่งนี้แล้วละก็งั้นเตรียมตัวเตรียมใจในการเดินทางได้เลย
เดินทางจากตัวเมืองมาทางสนามกีฬา เราจะมาเริ่มต้นที่สนามกีฬาสมโภช เชียงใหม่ 700 ปี นี่แหล่ะ  เลียบคลองชลประทาน ผ่าน โรงเรียนนวมินทร์ฯ - มูลนิธิขาเทียม - กรมทางหลวง - ททบ 5 - สถานีพัฒนาที่ดินเชียงใหม่ แล้วเราก็จะเห็นป้ายบอกทางไปห้วยตึงเฒ่า  และเลี้ยวซ้ายข้ามสะพานคลองชลประทาน  เข้าสู่อ่างเก็บน้ำห้วยตึงเฒ่าได้เลย  ถ้าใครชอบท่องเที่ยวแบบธรรมชาติแล้วผมรับรองว่าไม่ผิดหวังแน่นอน


หรือจะติดต่อสอบถามเพิ่มเติมให้แน่ใจในการเดินทางได้ที่ สำนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยวอ่างเก็บน้ำห้วยตึงเฒ่า มณฑลทหารบกที่ 33 โทร 053-121119 หรือ
เว็ปไซท์ www.rta.mi.th/hueytuengtao.com 


                       ความสุขเกิดจากการเข้าใจในความเป็นจริงและลงมือทำในสิ่งนั้น

วันศุกร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2553

อุทยานแห่งชาติเชียงดาว

อุทยานแห่งชาติเชียงดาว
เป็นแนวเทือกเขาติดต่อจากดอยเชียงดาวและดอยผาแดง เป็นป่าผืนเดียวกันกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว และอุทยานแห่งชาติศรีลานนา ซึ่งรวมเรียกว่า ป่าทางด้านเหนือของประเทศ เป็นต้นน้ำลำธารของแม่น้ำปิงและแม่แตง เรียกว่า ขุนน้ำปิงและขุนน้ำแม่แตง อยู่ในป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเชียงดาว ท้องที่อำเภอเวียงแหง อำเภอเชียงดาว และป่าสงวนแห่งชาติป่าลุ่มน้ำแม่ฝาง ท้องที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ มีลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน สภาพป่ามีความอุดมสมบูรณ์ มีจุดเด่นทางธรรมชาติที่น่าสนใจ คือ น้ำตกศรีสังวาลย์ น้ำตกปางตอง น้ำรูนิเวศน์ ถ้ำแกลบ ถ้ำตับเตา บ่อน้ำร้อนโป่งอาง ดอยผาตั้ง ดอยผาแดง จุดชมทิวทัศน์ยอดดอย นอกจากนี้ยังมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 721,825 ไร่ หรือ 1,154.92 ตารางกิโลเมตร
สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปของอุทยานแห่งชาติเชียงดาว ประชาชนรู้จักและคุ้นเคยกับสภาพป่าสงวนแห่งชาติป่าเชียงดาวมาก่อน อีกทั้งเป็นชื่อของอำเภอเชียงดาว ในท้องที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีชื่อเสียง รู้จักกันแพร่หลาย มีจุดเด่นทางธรรมชาติหลายแห่ง เช่น ถ้ำ น้ำตก จุดชมวิว เป็นต้น กรมป่าไม้จึงมีคำสั่งที่ 475/2532 ลงวันที่ 23 มีนาคม 2532 ให้นายโชดก จรุงคนธ์ เจ้าพนักงานป่าไม้ 5 กองอุทยานแห่งชาติ ไปดำเนินการสำรวจเบื้องต้น ในบริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่าเชียงดาว ท้องที่อำเภอเวียงแหง อำเภอเชียงดาว และป่าสงวนแห่งชาติป่าลุ่มน้ำแม่ฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และได้มีการสำรวจเพิ่มเติม ตามคำสั่งกรมป่าไม้ที่ 1627/2532 ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2532 เพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ ตามนัยมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 และหน่วยงานอุทยานแห่งชาตินี้ได้ขออนุมัติใช้ชื่ออุทยานแห่งชาติตามหนังสืออุทยานแห่งชาติที่ กษ. 0713 (ชด)/9 ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2533 ว่า อุทยานแห่งชาติเชียงดาว ซึ่งอธิบดีกรมป่าไม้ (นายไพโรจน์ สุวรรณกร) ให้อนุมัติให้ใช้ชื่อ “อุทยานแห่งชาติเชียงดาว” เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2533 ทั้งนี้เพราะเป็นชื่อป่าสงวนแห่งชาติ และอำเภอเชียงดาว ซึ่งประชาชนรู้จักกันดี
ในคราวประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ประชุมครั้งที่ 1/2538 ลงวันที่ 7 มีนาคม 2538 มีมติเห็นชอบ ให้กรมป่าไม้ดำเนินการสำรวจเพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติเชียงดาว โดยเสนอร่างพระราชกฤษฎีกา กำหนดเป็นอุทยานแห่งชาติ ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้มีหนังสือ ที่ นร 0204/5718 ลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2543 ยืนยันมติคณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณป่าเชียงดาว ในท้องที่ตำบลเมืองนะ ตำบลทุ่งข้างพวง ตำบลปิงโค้ง อำเภอเชียงดาว ตำบลเปียงหลวง ตำบลแสนไห บลเวียงแหง อำเภอเวียงแหง และป่าลุ่มน้ำแม่ฝาง ในท้องที่ตำบลหนองบัว ตำบลศรีดงเย็นอำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาและแก้ไขเพิ่มเติมให้ถูกต้องและเหมาะสมยิ่งขึ้น และสำนักงานเลขาธิการ คณะรัฐมนตรีนำร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินดังกล่าวให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2543 ขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายเพื่อประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายตามหนังสือที่ นร 0204/14602 ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2543 ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 117 ตอนที่ 98 ก วันที่ 2 พฤศจิกายน 2543

ลักษณะภูมิประเทศ
สภาพโดยทั่วไปเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน ภูเขาทางด้านตะวันออกส่วนใหญ่เป็นภูเขาหินชั้น มีดอยที่สำคัญได้แก่ ดอยถ้ำแกลบ ดอยหัวโท ดอยขุนห้วยไซ ดอยผาแดง ดอยถ้ำง๊อบ ดอยด่านฟาก เป็นต้น ภูเขาทางด้านตะวันตกส่วนใหญ่ เป็นเขตที่มีผืนป่าใหญ่ปกคลุมอยู่มีดอยที่สำคัญได้แก่ ดอยกำพร้า ดอยปุกผักกา ดอยเหล็กจี ดอยสันกิ่วคมพร้า ดอยกิ่วฮูลม ดอยถ้วย ดอยยางกลอ เทือกเขาตอนกลางระหว่างห้วยแม่จกถึง บ้านหนองเขียวแนวเหนือ-ใต้ เป็นที่ราบลุ่มที่มีความสูงไม่มาก มีดอยถ้ำยุง ดอยขุนเป้า เป็นต้น พื้นที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลระหว่าง 400-1,800 เมตร มียอดเขาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ที่มีความสูงสุดของพื้นที่ได้แก่ ดอยปุกผักกา มีความสูง 1,794 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

ลักษณะภูมิอากาศ
อุทยานแห่งชาติเชียงดาวเป็นบริเวณที่มีฝนตกชุก เพราะอยู่ในแนวทางที่มีร่องอากาศพาดผ่าน โดยได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ภูมิอากาศโดยทั่วไปอากาศค่อนข้างจะร้อนในฤดูร้อนจะหนาวเย็นในฤดูหนาวอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุด 7.5 องศาเซลเซียส และเฉลี่ยสูงสุด 26.7 องศาเซลเซียส ฝนตกชุกในฤดูฝน มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรายปีประมาณ 1,838.5 มิลลิเมตร โดยเดือนสิงหาคมจะมีฝนตกมากที่สุด ลักษณะอากาศที่ผิดปกติ ไม่มีภัยธรรมชาติร้ายแรงมากนัก ยกเว้นในช่วงฤดูฝนมักมีลมแรงจัด ในช่วงฝนตกหนัก มีลูกเห็บตกตามมา ทำลายผลไม้ให้เสียหายได้ และอาจมีน้ำไหลบ่าด้วยความรวดเร็ว มีปริมาณน้ำมากทำความเสียหายแก่เส้นทางคมนาคมในเขตพื้นที่หรือบริเวณใกล้เคียง

พืชพรรณและสัตว์ป่า
เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน สภาพป่าอุดมสมบูรณ์ และเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารหลายชนิด ชนิดป่าประกอบด้วย ป่าไม่ผลัดใบ ได้แก่ ป่าดงดิบแล้ง ป่าดงดิบเขา ป่าสนเขา พันธุ์ไม้ที่สำคัญคือ จำปีป่า ยาง ตะเคียน สมอพิเภก อบเชย ทะโล้ ไม้สนเขา ไม้เหียง ไม้พลวง ป่าผลัดใบ ได้แก่ เบญจพรรณ ป่าเต็งรัง พันธุ์ไม้ที่สำคัญคือ ประดู่ แดงตะแบก ยอป่า เสลา ยมหิน ไผ่เวก ไผ่ป่า หญ้าชนิดต่างๆ เต็ง รัง ติ้ว แต้ว สมอไทย กระโดนฯลฯ
ป่าแห่งนี้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหลายชนิด เพราะเป็นป่าผืนเดียวกับป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาว อำเภอเชียงดาว สัตว์ป่าที่สำคัญประกอบด้วย กวางผา เก้ง หมูป่า วัวแดง กระทิง เม่น ค่าง อีเห็น กระรอก กระแต นกนานาชนิด สัตว์เลื้อยคลานชนิดต่างๆสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ เช่น กบชนิดต่างๆ คางคก อึ่งอ่าง เขียด ฯลฯ ส่วนใหญ่พบตามลุ่มน้ำ

น้ำตกศรีสังวาลย์
เป็นน้ำตกหินปูนขนาดกลาง มีความกว้างประมาณ 10 - 12 เมตร มีความสูงประมาณ 10 - 15 เมตร มีน้ำตก 3 ชั้น ไหลลงเป็น 3 ช่วง เกิดจากขุนน้ำนาหวาย สภาพทั่วไปบริเวณน้ำตกมีพันธุ์ไม้ขนาดใหญ่ขึ้นอยู่บ้าง ตอนต้นน้ำพื้นที่ใกล้เคียงถูกแผ้วถางป่า ป่าโปร่งมีป่าไผ่แทรกอยู่บ้าง ตอนท้ายของน้ำตกยังมีสภาพดีอยู่ น้ำตกนี้อยู่ที่บ้านนาหวาย ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว ห่างจากทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1178 ตอนเมืองงาย-บ้านนาหวาย ประมาณ 150 เมตร แยกที่ กม. 24.5 อยู่ห่างจากอำเภอเชียงดาวประมาณ 35 กิโลเมตร การคมนาคมสะดวกสบาย
กิจกรรม - แค็มป์ปิ้ง - เดินป่าศึกษาธรรมชาติ - เที่ยวน้ำตก

น้ำตกปางตอง
เป็นน้ำตกขนาดกลางที่ซ่อนตัวอยู่ในป่ามีลักษณะเด่นสวยงามเฉพาะตัว เกิดจาก ลำน้ำขุ่นแม่งาย น้ำจะไหลลงจากเขาลอดลงรูไปใต้ดินระยะทางประมาณ 50 - 60 เมตร แล้วไหลออกจากรูลง หน้าผาเป็นน้ำตกกว้างประมาณ 10 เมตร มี 3 ชั้น 2 ช่วง บริเวณน้ำตกมีสภาพป่าเป็นธรรมชาติเป็นป่าดงดิบ มีต้นไม้ขึ้นปกคลุมอยู่อย่างหนาแน่นอยู่ห่างจากถนนสายป้ายแม่จา-เปียงหลวง บริเวณ กม.ที่ 20 การคมนาคมสะดวกทุกฤดู
กิจกรรม - เที่ยวน้ำตก

ถ้ำแกลบ
เป็นถ้ำขนาดกลางเกิดจากเขาหินภายในถ้ำ มีความกว้างประมาณ 10 เมตร มีค้างคาวอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก พื้นล่างเป็นทางน้ำไหลออกมาภายในถ้ำไหลออกทางหน้าถ้ำระยะทางเดินเข้าไปเท่าที่สำรวจได้ประมาณ 500 เมตร ผนังถ้ำด้านข้างตลอดทางมีลักษณะเป็นชั้นยื่นออกมาทั้งสองด้าน สันนิษฐานว่าเป็นลักษณะรางน้ำที่น้ำกัดเซาะจนแยกออกจากกันเป็นร่องน้ำ ผนังด้านบนมีหินงอกหินย้อย สวยงามสลับกันไป ด้านหน้าถ้ำเป็นพื้นที่ราบ ส่วนบนภูเขาใกล้เคียงมีฝูงลิงอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก บริเวณนี้อยู่ห่าง ถ้ำอยู่ห่างจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 107 (เชียงใหม่-อำเภอฝาง) ตรง กม ที่ 99 ประมาณ 1.5 กิโลเมตร ซึ่งห่างจากบ้านห้วยจะด่าน ประมาณ 60 เมตร
กิจกรรม - เที่ยวถ้ำ/ธรณีวิทยา

ถ้ำตับเตา
อยู่ตรงบริเวณบ้านตับเตา หน้าถ้ำเป็นวัดป่ามีอายุประมาณ 40-50 ปีขึ้นไป ลักษณะถ้ำเป็นถ้ำที่มีขนาดเล็กกว่าถ้ำเชียงดาว จากการสำรวจด้านที่ติดกับเขามีลำห้วยไหลผ่านเข้าไปในเขตวัดน้ำใสสะอาดตลอดปี มีต้นไม้ขนาดใหญ่ขึ้นอยู่ สภาพป่าบริเวณใกล้เคียง สมบูรณ์มาก การคมนาคมสะดวกทุกฤดูกาล การเดินทางแยกตรง กม. ที่ 118 ของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 107 (เชียงใหม่-ฝาง) และมีถนนตรงไปถึงบริเวณวัดประมาณ 3 กิโลเมตร
กิจกรรม - เที่ยวถ้ำ/ธรณีวิทยา

ดอยผาตั้ง
เป็นเขาหินสูงที่มีลักษณะเด่นในตัวคือ เป็นแท่งกลมขนาดใหญ่ตั้งอยู่มีความสวยงาม อยู่ตรงกิโลเมตรที่ 93 ของทางหลวางแผ่นดินหมายเลขที่ 170 สายเชียงใหม่ - ฝาง ระยะทางเข้าไปถึงประมาณ 300 เมตร
กิจกรรม - ชมทิวทัศน์ - เที่ยวถ้ำ/ธรณีวิทยา

ดอยผาแดง
ถ้ำแกลบเป็นเขาหินสูงเรียงตัวกันไปมา ทำให้เกิดจุดเด่นเฉพาะมีลักษณะเป็นทิวทัศน์มีความสวยงาม อยู่ตรงกิโลเมตรที่ 98 ของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 107 สายเชียงใหม่-ฝาง
กิจกรรม - ชมทิวทัศน์

บ่อน้ำร้อนโป่งอ่าง
เป็นบ่อน้ำร้อนขนาดเล็ก มีแก๊ส กำมะถัน และควันไอน้ำระเหยขึ้นมา มีน้ำไหลตลอดปี น้ำมีอุณหภูมิสูง 70-80 องศาเซลเซียส บ่อน้ำร้อนตั้งอยู่ในบริเวณทางเข้าหมู่บ้านบริเวณโป่งอ่าง แยก กม. 22 ของถนนเมืองงาย-บ้านนาหวาย ห่างจากทางแยกประมาณ 2 กิโลเมตร ตรงบริเวณนี้มีนกหลายชนิดชุกชุม ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติไปทางทิศใต้ประมาณ 3 กิโลเมตร
กิจกรรม - อาบน้ำแร่

จุดชุมวิวยอดดอย
อยู่ตรงกิโลเมตรที่ 45 เส้นทางลาดยาง แม่จา-เปียงหลวง บริเวณนี้เป็นพื้นที่สวนป่าของหน่วยจัดการต้นน้ำขุนคอง ส่องอนุรักษ์ต้นน้ำ สามารถชมวิวทิวทัศน์ได้ทั้งสองเขต คือ ทางด้านเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ดอยเชียงดาวและเขตอุทยานแห่งชาติเชียงดาว
กิจกรรม - ดูดาว - แค็มป์ปิ้ง - ชมทิวทัศน์

จุดชุมวิวยอดดอยถ้วย
อยู่ทางตอนเหนือของพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ซึ่งยอดดอยถ้วยนี้เป็นจุดต้นน้ำลำห้วยแม่น้ำปิง ซึ่งเรียกว่า “ขุนปิง” สภาพป่าอุดมสมบูรณ์อากาศเย็นสบาย สามารถชมวิวทิวทัศน์ที่งดงามทั้งในเขตประเทศไทย และทิวเขาในเขตประเทศพม่า โดยเริ่มการเดินทางจากบ้านเมืองนะ ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว ไปตามสันเขาถึงบริเวณฐานยอดดอยถ้วย ระยะทางเดินเท้าประมาณ 10 กิโลเมตร
กิจกรรม - ชมทิวทัศน
ต้นกำเนิดแม่น้ำปิง มีลักษณะเป็นธารน้ำเล็กๆ ไหลออกมาจากภูเขา ชาวบ้านเชื่อว่าต้นน้ำแห่งนี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ก่อนฤดูทำนาทุกปีจะจัดพิธีไหว้และพิธีบวชป่าชุมชนขึ้นที่นี่

น้ำตกทุ่งแก้ว
เป็นน้ำตกหินปูนอีกแห่งหนึ่งที่มีความสวยงามพอสมควร สูงประมาณ 15 เมตร อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 8 กิโลเมตร
กิจกรรม - เที่ยวน้ำตก

ถ้ำลม
สาเหตุที่เรียกว่า “ถ้ำลม” เนื่องจากทางลงไปในถ้ำจะมีลมเข้ามาปะทะบางเบาพอให้รู้สึกตัวตลอดเวลา ทำให้อากาศภายในถ้ำโปร่งและเย็นสบาย ถ้ำลม เป็นถ้ำหินปูนขนาดใหญ่ ภายในถ้ำแบ่งเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ 5-6 ห้องโถง แต่ละห้องโถงอยู่ห่างกันประมาณ 30-40 เมตร มีหินงอกหินย้อยลักษณะสวยงามแปลกตา ระยะทางเดินภายในถ้ำประมาณ 1,500 เมตร ในฤดูฝนจะมีธารน้ำไหลมีความลึกประมาณ 50 เซนติเมตร ถ้ำลมอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1178 ประมาณ 7 กิโลเมตร เลี้ยวเข้าหมู่บ้านเมืองนะเหนืออีก 19 กิโลเมตร จากนั้นเดินเท้าเข้าไปอีกประมาณ 500 เมตร ถึงปากทางเข้าถ้ำลม
กิจกรรม - เที่ยวน้ำตก

ถ้ำผาชัน
เป็นถ้ำขนาดใหญ่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ใช้เวลาเดินเท้าประมาณ 1 ชั่วโมง
กิจกรรม - เที่ยวถ้ำ/ธรณีวิทยา

ถ้ำดอยกลางเมือง
เป็นถ้ำขนาดใหญ่ ลึกประมาณ 1 กิโลเมตร ทางเข้าถ้ำเป็นหน้าผาสูง ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 22 กิโลเมตร โดยเดินทางไปที่บ้านเมืองนะ แล้วเดินเท้าไปอีกประมาณ 2 ชั่วโมง
กิจกรรม - เดินป่าศึกษาธรรมชาติ - เที่ยวถ้ำ/ธรณีวิทยา

การเดินทาง
รถยนต์
ปัจจุบันการคมนาคมได้รับการพัฒนาการก่อสร้างทางถนนเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้การเดินทางไปตามจุดต่างๆ สะดวกรวดเร็วขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากรัฐบาลได้กำหนดให้ท้องที่เชียงใหม่เป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยสามารถเดินทางได้หลายเส้นทาง ดังนี้
• เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 107 (เชียงใหม่-ฝาง) ช่วงถนนที่อยู่ติดเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ได้แก่ ช่วงบ้านปิงโค้ง (กม.83) อำเภอเชียงราย-แยกเข้าบ้านตับเตา (กม.118) อำเภอไชยปราการ
• เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1178 ตอนแยกเมืองงาย กม. 79 บ้านนาหวาย กม. 24 ระยะทาง 24 กิโลเมตร และจากบ้านนาหวาย กม. ที่ 24 - บ้านเมืองนะ ระยะทางประมาณ 34 กิโลเมตร ใช้งานได้ทุกฤดูกาล
• ถนน กปร. กลาง ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร เข้าบ้านห้วยจะด่าน (แยก กม. ที่ 99 ของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 107)

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

สถานที่ติดต่อ
อุทยานแห่งชาติเชียงดาว
ต.เมืองนะ อ. เชียงดาว จ. เชียงใหม่ 50170
โทรศัพท์ 0 5326 1466 อีเมล reserve@dnp.go.th

วันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2553

อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง

อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง
อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอแม่แตง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีสภาพป่าและธรรมชาติที่สมบูรณ์ ภูเขาสูงชันสลับซับซ้อน เป็นป่าต้นน้ำลำธาร มีจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงามและจุดชมวิวที่สามารถชมบรรยากาศอันร่มรื่น โดยเฉพาะบริเวณห้วยน้ำดัง ที่มีชื่อว่าทะเลหมอกที่งดงามยิ่ง มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของประเทศไทย อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดังมียอดดอยที่มีธรรมชาติงดงามอีกหลายแห่ง เช่น ดอยช้าง ดอยสามหมื่น รวมทั้งมีโป่งเดือดซึ่งเป็นน้ำพุร้อนธรรมชาติ ส่วนการล่องแพในลำน้ำแม่แต่งก็เป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 782,575 ไร่ หรือ 1,252.12 ตารางกิโลเมตร

ตามมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) ประจำกรมป่าไม้ ครั้งที่ 9/2530 เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2530 ให้กองอนุรักษ์ต้นน้ำ และกองอุทยานแห่งชาติประสานงานกัน จัดส่งเจ้าหน้าที่ไปสำรวจพื้นที่บริเวณหน่วยพัฒนาต้นน้ำที่ 2 (ห้วยน้ำดัง) จังหวัดเชียงใหม่บางส่วน เพื่อพิจารณาจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติตามข้อเสนอแนะของกองอนุรักษ์ต้นน้ำ กองอุทยานแห่งชาติได้มีหนังสือ ที่ กษ 0713/ ลงวันที่ 3 ธันวาคม 2530 กรมป่าไม้ให้ นายณรงค์ เจริญไชย เจ้าพนักงานป่าไม้ 4 ไปทำการสำรวจพื้นที่ร่วมกับหัวหน้าหน่วยพัฒนาต้นน้ำที่ 2 (ห้วยน้ำดัง) หัวหน้าหน่วยพัฒนาต้นน้ำที่ 4 (แม่แจ่มหลวง) และหัวหน้าหน่วยพัฒนาต้นน้ำที่ 9 (ห้วยน้ำรู) ซึ่งได้รายงานผลการสำรวจตามหนังสือ ที่ กษ 0713(ทป)/86 ลงวันที่ 3 เมษายน 2531 แต่เนื่องจากยังขาดรายละเอียดต่างๆ และขอบเขตพื้นที่ที่เหมาะสมในการกำหนดเขตอุทยานแห่งชาติ ประกอบกับวนอุทยานโป่งเดือด จังหวัดเชียงใหม่ มีหนังสือ ที่ กษ 0713(ปด)/10 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2531 แจ้งว่า เนื้อที่ใกล้เคียงวนอุทยานมีความเหมาะสมที่จะรวมกับพื้นที่หน่วยพัฒนาต้นน้ำที่ 2 (ห้วยน้ำดัง) จัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ

กองอุทยานแห่งชาติได้มีหนังสือ ที่ กษ 0713/950 ลงวันที่ 16 สิงหาคม 2531 เสนอกรมป่าไม้ให้ นายสวัสดิ์ ทวีรัตน์ เจ้าพนักงานป่าไม้ 4 หัวหน้าวนอุทยานโป่งเดือดไปสำรวจเบื้องต้นบริเวณดังกล่าว ได้รับรายงานผลการสำรวจตามหนังสือ ที่ กษ 0713(ปด)/74 ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2531 ว่า ได้ทำการสำรวจร่วมกับ นายณรงค์ เจริญไชย เจ้าพนักงานป่าไม้ 4 พื้นที่บริเวณดังกล่าวมีสภาพป่าธรรมชาติที่สมบูรณ์ ภูเขาสูงชันสลับซับซ้อน เป็นป่าต้นน้ำลำธาร มีจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงามเหมาะสมจะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ

กองอุทยานแห่งชาติได้มีหนังสือ ที่ กษ 0713/206 ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2532 เสนอกรมป่าไม้ขอความเห็นชอบ เพื่อนำเรื่องการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดังเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ เพื่อให้ความเห็นชอบกำหนดบริเวณพื้นที่หน่วยพัฒนาต้นน้ำที่ 2 (ห้วยน้ำดัง) หน่วยพัฒนาต้นน้ำที่ 4 (แม่จอกหลวง) หน่วยพัฒนาต้นน้ำที่ 9 (ห้วยน้ำรู) บางส่วน และพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ปายฝั่งซ้ายตอนบน ในป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่แตงในท้องที่ตำบลกี๊ดช้าง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ และ ตำบลแม่อี้ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีเนื้อที่ประมาณ 1,252.12 ตารางกิโลเมตร หรือ 782,575 ไร่ เป็นอุทยานแห่งชาติตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ต่อไป

ต่อมาได้มีวิทยุกองอุทยานแห่งชาติที่ กษ 0712 ทับ 97 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2534 ให้อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง ประสานงานกับหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าแม่เลา-แม่แสะ และให้สำรวจพื้นที่บางส่วนของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าแม่เลา-แม่แสะ และพื้นที่วนอุทยานโป่งเดือด ในท้องที่ตำบลเมืองคอน อำเภอเชียงดาว และตำบลป่าแป๋ ตำบลเมืองกาย อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติเพิ่มเติมประมาณ 118,906.25 ไร่ หรือ 190.25 ตารางกิโลเมตร เนื่องจากพบว่า พื้นที่ส่วนใหญ่มีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ มีศักยภาพสูงมาก มีจุดเด่นที่สวยงาม เช่น โป่งเดือด น้ำตก ลุ่มน้ำแม่แตง รวมทั้งความหลากหลายของพืชพรรณ และสัตว์ป่าที่ชุกชม มีความเหมาะสมอย่างยิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติโดยด่วน

อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดังได้ประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าเชียงดาว และป่าแม่แตงในท้องที่ตำบลเปียงหลวง ตำบลเมืองแหง อำเภอเวียงแหง ตำบลกืดช้าง ตำบลป่าแป๋ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ และป่าแม่ปายฝั่งซ้ายตอนบนในท้องที่ตำบลเวียงเหนือ ตำบลแม่ฮี้ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 112 ตอนที่ 33ก ลงวันที่ 14 สิงหาคม 2538 มีเนื้อที่ประมาณ 782,575 ไร่ หรือ 1,252.12 ตารางกิโลเมตร นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 80 ของประเทศ



ลักษณะภูมิประเทศ

สภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาและหุบเขาสลับกัน เป็นแนวยาวขนานกันในแนวเหนือ-ใต้ของเทือกเขาแดนลาว เทือกเขาถนนธงชัย และเทือกเขาผีปันน้ำ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางธรณีที่มีการแทรกดันของหินหนืด และแรงบีบอัดในแนวตะวันออก-ตะวันตก ทำให้พื้นผิวโก่งงอกลายเป็นภูเขาและเทือกเขา และมีหุบเขาที่เกิดจากรอยเลื่อนที่ทรุดต่ำลง รวมทั้งได้มีการสึกกร่อนที่เกิดจากกระบวนการทางฟิสิกส์และทางเคมี ตลอดจนการทับถมของตะกอนน้ำพาทำให้เกิดเป็นที่ราบแคบๆ ระหว่างภูเขาทั้งสองฝั่งของลำน้ำ มีความสูงตั้งแต่ 400-1,962 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีภูเขาที่สูงที่สุดคือ ดอยช้าง เป็นป่าต้นน้ำลำธารของลำน้ำสายสำคัญ คือ แม่น้ำแตงและแม่น้ำปาย จัดอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำตั้งแต่ชั้น A ถึงชั้น 1A มีลำห้วยน้อยใหญ่มากมาย ได้แก่ ห้วยเหี้ยะ ห้วยแม่ยะ ห้วยฮ่อม ห้วยน้ำดัง ห้วยแม่สลาหลวง ห้วยโป่ง น้ำงุม ห้วยแม่แพลม ห้วยงู ห้วยแม่เย็นหลวง ห้วยน้อย ห้วยฮ่อม ห้วยหก ห้วยแม่ฮี้ ห้วยขาน ห้วยแม่ปิง ห้วยแม่จอกหลวง เป็นต้น



ลักษณะภูมิอากาศ

สภาพอากาศโดยทั่วไปเย็นสบายตลอดปี อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 20 องศาเซลเซียส อากาศหนาวเย็นในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยประมาณ 8 องศาเซลเซียส ช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยประมาณ 23 องศาเซลเซียส อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดังคาบเกี่ยวพื้นที่ 2 จังหวัด คือ จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดแม่ฮ่องสอน พื้นที่ป่าอยู่ในเขตมรสุม กล่าวคือ พื้นที่นี้ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และลมมรสุมสะวันตกเฉียงเหนือนอกจากนั้นยังอยู่ภายใต้อิทธิพลของลมพายุไซโคลน ด้วยจึงทำให้สภาพอากาศโดยทั่วไปมี 3 ฤดูดังนี้

ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน อุณหภูมิสูงสุดประมาณ 24 องศาเซลเซียสและ ต่ำสุดประมาณ 10 องศาเซลเซียส ปริมาณฝนเฉลี่ยตลอดปี 1,134 มิลลิเมตร ทิศทางลมมาจากทิศตะวันตกเฉียงใต้

ฤดูหนาว ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ อุณหภูมิสูงสุดประมาณ 20 องศาเซลเซียส ต่ำสุดเฉลี่ยประมาณ 2 องศาเซลเซียส ทิศทางลมมาจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน อุณหภูมิสูงสุดประมาณ 28 องศาเซลเซียส ต่ำสุดเฉลี่ยประมาณ 12 องศาเซลเซียส ทิศทางลมมาจากทิศตะวันตกเฉียงใต้


พืชพรรณและสัตว์ป่า

อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดังสภาพทางธรรมชาติยังคงความอุดมสมบูรณ์ จึงทำให้เกิดสังคมพืชหลากหลายชนิด ประกอบด้วย

ป่าดิบชื้น ขึ้นปกคลุมสองฝั่งของลำน้ำในพื้นที่ที่มีความสูง 500-800 เมตรจากระดับน้ำทะเล พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ เติม อวบดำ หว้า งิ้วป่า ปอตูบหูช้าง ผ่าเสี้ยน มันปลา เปล้าใหญ่ ฯลฯ ไม้พุ่มและพืชพื้นล่างได้แก่ เอื้องหมายนา มันดง ม้าสามต๋อน เฒ่าหลังลาย หญ้าถอดบ้อง ตองกง เครือออน กลอย สายหยุด หัสคุณ ออสมันด้า และ เล็บเหยี่ยว เป็นต้น

ป่าดิบเขา พบในพื้นที่ทีเป็นหุบเขาและพื้นที่ลาดชันที่สภาพอากาศมีความชื้นค่อนข้างสูงตลอดปี ในระดับความสูง 1,650-1,900 เมตรจากระดับน้ำทะเล ชนิดไม้ที่สำคัญได้แก่ ก่อกระดุม ก่อแดง สนสามใบ เม็ดชุนตัวผู้ ช้าส้าน มะมือ ก่วม เต้าหลวง จำปีหลวง มณฑาป่า เหมือดดง เดื่อปล้องหิน ตะไคร้ต้น สารภีป่า กำลังเสือโคร่ง กะทัง ฯลฯ ไม้พุ่มและพืชพื้นล่าง ได้แก่ กล้วย ต่างไก่ป่า พลูช้าง พญาดง หญ้าคมบาง ตองกง พริกไทย ดาดตะกั่ว และกาหลา เป็นต้น

ป่าเบญจพรรณ พบกระจายตัวเป็นพื้นที่กว้างที่ระดับความสูงต่ำกว่า 900 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ กาสามปีก กุ๊ก แคหัวหมู แดง ตะคร้ำ ประดู่ มะเกลือ มะกอก ตังหน ชิงชัน โมก ฯลฯ ไม้พุ่มและพืชพื้นล่างได้แก่ คนทา คัดเค้าเครือ เฒ่าหลังลาย เต่าร้าง ผักแว่น สะบ้าลิง สาบเสือ บุก ลิเภา ชายผ้าสีดา เกล็ดปลา หญ้าขัด และพ่อค้าตีเมีย เป็นต้น ป่าเต็งรัง พบโดยทั่วไปในพื้นที่ที่ระดับความสูงต่ำกว่า 800 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ชนิดไม้ที่สำคัญ ได้แก่ เต็ง เหียง พลวง รัง รกฟ้า พะยอม ตีนนก ติ้วขน สมอไทย ส้านใหญ่ มะขามป้อม ยอป่า แสลงใจ เค็ด ฯลฯ ไม้พุ่มและไม้พื้นล่าง ได้แก่ กะตังใบ โสมชบา กระมอบ หนาดคำ ตาฉี่เคย ข้าวสารป่า และยาบขี่ไก่ เป็นต้น

ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของสภาพป่า จึงชุกชุมไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด ได้แก่ ช้างป่า กวางป่า หมีควาย เก้ง กระจงเล็ก เลียงผา หมูป่า แมวดาว ชะมดเช็ด ลิงวอก ชะนีมือขาว พังพอน เม่นใหญ่ ไก่ป่า ไก่ฟ้าสีเงิน นกเขาเปล้า นกขุนทอง นกขมิ้นท้ายทอยดำ นกปรอดคอลาย เหยี่ยวต่างสี กะท่าง เต่าปูลู เต่าใบไม้ ก้งก่าแก้ว แย้ ตะกวด งูเหลือม งูเขียวดอกหมาก งูเห่า กบทูด ปาด เขียดป่าไผ่ และอึ่งลาย เป็นต้น ในบริเวณแม่น้ำและลำห้วยต่างๆ พบปลาจาด ปลามอน ปลาเลียหิน ปลาเวียน ปลาค้อ ปลาค้างคาว ปลาติดหิน และปลาก้าง เป็นต้น
การท่องเที่ยวนั้นข้อมูลเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางเพื่อให้เกิดความสะดวกมากขึ้นในส่วนของข้อมูลนี้ต้องขอขอบคุณอุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดังหรือหากมีข้อสงสัยในการท่องเที่ยวที่อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดังก็ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดังหมู่ที่ 5 ต.กึ๊ดช้าง อ. แม่แตง จ. เชียงใหม่ 50150โทรศัพท์ 0 5324 8491, 0 5326 3910, 08 4908 1531 (มือถือ) โทรสาร 0 5324 8491 อีเมล h.namdang_np@hotmail.com

อุทยานแห่งชาติออบขาน

อุทยานแห่งชาติออบขาน
อุทยานแห่งชาติออบขาน มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 302,500 ไร่ หรือ 484 ตารางกิโลเมตร อยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าสะเมิง ท้องที่ตำบลสะเมิงใต้ ตำบลแม่สาบ ตำบลบ่อแก้ว อำเภอสะเมิง ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ขาน-แม่วาง ท้องที่ตำบลแม่วิน ตำบลบ้านกาด ตำบลดอนเปา ตำบลทุ้งปี้ อำเภอแม่วาง ตำบลน้ำบ่อหลวง อำเภอสันป่าตอง และป่าท่าช้าง-แม่ขนิล ท้องที่ตำบลน้ำแพร่ ตำบลบ้านปง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงที่สุด ได้แก่ ยอดขุนเตียนสูง 1,550 เมตร มีจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงาม ได้แก่ ออบขาน ออบไฮ ผาตูบ ถ้ำตั๊กแตน ถ้ำห้วยหก น้ำตกแม่สะป๊อก และน้ำตกขุนวิน นอกจากนี้ยังมีพันธุ์ไม้และสัตว์ป่าที่สำคัญอีกหลายชนิด
ความวิกฤตการณ์เกิดขึ้นบ่อยๆ โดยเฉพาะจากภัยธรรมชาติ เช่น เหตุการณ์อุทกภัยภาคใต้ของประเทศไทย เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2531 ส่งผลให้มีพระราชกำหนดปิดป่าสัมปทานทำไม้ (เฉพาะป่าบก) ทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2532 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้มีนโยบายเพิ่มพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยให้กรมป่าไม้ดำเนินการตามนโยบายโดยรีบด่วน เมื่อพิจารณาแล้วกรมป่าไม้จึงได้มีคำสั่งที่ 475/2532 ลงวันที่ 23 มีนาคม 2532 สั่งให้ข้าราชการในสังกัดกองอุทยานแห่งชาติ ออกไปสำรวจเบื้องต้นพื้นที่ป่าจำนวน 28 แห่ง ทั่วประเทศ ในจำนวนนี้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่แตง ป่าแม่ริม และป่าแม่สะเมิง ป่าแม่ขาน-แม่วาง ป่าท่าช้าง-แม่ขนิล จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่หนึ่งที่ได้รับการคัดเลือกให้ดำเนินการสำรวจเบื้องต้น ตามคำสั่งกรมป่าไม้ที่ 1627/2532 ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2532 ให้ นายทวีชัย คำภีระ ไปสำรวจเพิ่มเติมและจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ และทำหน้าที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ
กองอุทยานแห่งชาติได้พิจารณาเห็นชอบ ตามที่อุทยานแห่งชาติเสนอ คือ ใช้ชื่ออุทยานแห่งชาติว่า “อุทยานแห่งชาติออบขาน” ตามที่คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติได้ประชุมครั้งที่ 2/2535 ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2535 มีมติเห็นชอบให้กรมป่าไม้ดำเนินการสำรวจเพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติออบขาน จังหวัดเชียงใหม่ โดยให้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเป็นอุทยานแห่งชาติ ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 กรมป่าไม้เห็นควรจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติต่อไป
ปัจจุบันกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติต่อไป

ลักษณะภูมิประเทศ
ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาหินปูนและหินอัคนีเรียงรายสลับซับซ้อน แนวเขาวางตัวในแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก เป็นแนวเทือกเขาติดต่อมาจากเทือกเขา ในเขตอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ภูเขาส่วนใหญ่จะไม่สูงมากนัก ยอดเขาที่สูงที่สุด ได้แก่ ยอดขุนเตียน สูง 1,550 เมตร ดอยขุนห้วยพระเจ้า สูง 1,443 เมตร ดอยขุนวินสูง 1,424 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง เป็นต้น กำเนิดแม่น้ำ ลำห้วยสายสำคัญที่ไหลลงสู่แม่น้ำปิง ได้แก่ น้ำแม่ขาน น้ำแม่วาง น้ำแม่เตียน ห้วยแม่วิน ห้วยแม่โต๋ ห้วยแม่ขนิล ห้วยหละหลวง เป็นต้น พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา ลักษณะพื้นที่มีความลาดชันสูง โดยเฉลี่ยประมาณ 800 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง มีพื้นที่ราบขนาดเล็กตามริมแม่น้ำ ลำห้วย และที่ราบเชิงเขาเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านต่างๆ ในพื้นที่

ลักษณะภูมิอากาศ
ภูมิอากาศโดยทั่วไปค่อนข้างจะร้อนในฤดูร้อน อากาศหนาวเย็นในฤดูหนาว และมีฝนตกชุก เป็นช่วงระยะสั้นๆ ในฤดูฝน ฤดูร้อนค่อนข้างยาวนาน

พืชพรรณและสัตว์ป่า
เนื่องจากสภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูง-ต่ำสลับซับซ้อน สภาพป่าจึงมีหลายประเภท ประกอบด้วย ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง ในบริเวณพื้นที่ที่มีระดับความสูงประมาณ 400-800 เมตรจากระดับน้ำทะเล ส่วนพื้นที่ที่มีความสูงตั้งแต่ 800 เมตรขึ้นไป จะเป็นป่าดิบเขา และป่าสนเขา พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ กระบก กระบาก ยมหอม แดงน้ำ สมพง ยาง ก่อ จำปีป่า ทะโล้ อบเชย กำยวน สนสองใบ สนสามใบ สัก เต็ง รัง พลวง ประดู่ มะค่าโมง ยางนา ตะแบก ตะคร้อ ตีนนก สมอไทย และไผ่ชนิดต่างๆ นอกจากนี้ยังพบพันธุ์พืชหายาก เช่น กล้วยไม้รองเท้านารี
สัตว์ป่าที่พบ ได้แก่ เลียงผา เก้ง หมีขอ หมีควาย เสือปลา เสือไฟ กระจง อีเห็น กระต่ายป่า หมูป่า ชะนี ลิง นางอาย พังพอน เม่น หมาจิ้งจอก กระรอก กระแต หนูต่างๆ ตะพาบน้ำ เต่าปูลู ไก่ฟ้า และนกชนิดต่างๆ จำนวนมาก

สิ่งที่น่าสนใจในอุทยานแห่งชาติออบขาน
อุทยานแห่งชาติออบขานมีสถานที่ที่เป็นจุดเด่นที่น่าสนใจอยู่หลายแห่งมีออบถ้ำน้ำตก น้ำพุร้อน ภูมิทัศน์อันสวยงาม อากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี มีชีวภาพอันหลากหลาย ในด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี มีถ้ำเป็นที่อาศัยของมนุษย์ยุคหิน มีซากโบราณสถาน โบราณวัตถุ และภาพลายแทงตามถ้ำ มีวัดเก่าและเจดีย์ นอกจากนี้ยังมีวัฒนธรรมของชาวพื้นราบที่เจริญรุ่งเรือง และความหลากหลายของชายไทยภูเขา
สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ อาทิ
อ่างเก็บน้ำห้วยอีนูน อยู่บริเวณขุนน้ำแม่วาง
น้ำตกแม่วาง อยู่บริเวณขุนห้วยแม่เตียน
น้ำตกแม่เตียน อยู่บริเวณ ขุนห้วยแม่ป๋วย
น้ำตกมรกต ติดเทือกเขาดอยอินทนนท์
ภูเขาเทือกอินทนนท์ อยู่บริเวณเทือกเขาดอยสะเมิง
นอกจากนี้ยังมีภูเขาเทือกดอยสะเมิง หน้าผาดอยบ้านปง ภูเขาดอยบ่อแก้ว ถ้ำตั้กแตน หน้าผาดอยแม่วาง ดอยสะเมิง ลำน้ำแม่วาง ลำน้ำแม่ขาน น้ำพุร้อนแม่โต๋ ถ้ำผาลาย วัดหลวง

เส้นทางคมนาคม (ถนน)
ระยะทางจากจังหวัด เชียงใหม่ ถึงอำเภอหางดง ประมาณ 40.00 กิโลเมตร
ระยะทางจากอำเภอหางดง ถึงสำนักงานอุทยานแห่งชาติออบขาน 45.00 กิโลเมตร สภาพถนนเป็นถนนลาดยาง 75 กิโลเมตร และถนนลูกรัง 15 กิโลเมตร

บริการที่พัก
อุทยานแห่งชาติออบขานมีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว มีเจ้าหน้าที่ประจำในการติดต่อสอบถามให้รายละเอียดเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติ และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
มีเส้นทางเดินไพรศึกษาธรรมชาติ โดยเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวก มีสถานที่กางเต้นท์ไว้รองรับนักท่องเที่ยวจำนวน 3 แห่ง พักได้ทั้งหมด 1000 คนและร้านสวัสดิการอุทยานฯ บริการอาหาร เครื่องดื่ม สนใจติดต่อได้ที่ทำการอุทยานแห่งชาติออบขาน 34/1-2 ถนนเวียงบัว ซอยทานตะวัน ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50300 โทร. (053) 215204 หรือติดต่อสอบถามได้ที่ งานบริการบ้านพัก ฝ่ายนันทนาการและสื่อความหมาย ส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กรมป่าไม้ กรุงเทพฯ โทร.5797223 , 5795734 หรือ โทร.5614292 - 4 ต่อ 724 , 725 หรือ

อุทยานแห่งชาติออบขาน
ต.น้ำแพร่ อ. หางดง จ. เชียงใหม่ 50230
โทรศัพท์ 08 6181 1068 อีเมล reserve@dnp.go.th

วันพุธที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2553

อุทยานแห่งชาติดอยเวียงผา

อุทยานแห่งชาติดอยเวียงผา
ข้อมูลทั่วไป
คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2532 กำหนดให้ปี พ.ศ. 2532-2535 เป็นปีแห่งการป้องกันและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และต่อมารัฐมนตรีมีนโยบายที่จะอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ของชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ไว้ในลักษณะของอุทยานแห่งชาติ ต่อมาส่วนอุทยานแห่งชาติ จึงได้จัดเจ้าหน้าที่ของส่วนอุทยานฯ มาสำรวจและจัดตั้งให้เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยมีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าลุ่มนำแม่ฝางท้องที่ตำบลศรีดงเย็น ตำบลแม่ทะลบ อำเภอไชยปราการ ท้องที่ตำบลแม่ข่า ตำบลแม่คะ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ลาวฝั่งซ้าย ท้องที่ตำบลป่าแดด ตำบลศรีถ้อย ตำบลท่าก๊อ จังหวัดเชียงราย โดยใช้ชื่อว่า "อุทยานแห่งชาติดอยเวียงผา" มีเนื้อที่ประมาณ 455.9 ตารางกิโลเมตร หรือ 284,937.5 ไร่

ลักษณะภูมิประเทศ
อุทยานแห่งชาติดอยเวียงผา มีลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน เทือกเขาวางตัวในเแนวทิศเหนือ – ใต้ เป็นแนวแบ่งเขตจังหวัดเชียงใหม่ – เชียงราย มียอดดอยสูงสุดคือ ดอยเวียงผา มีความสูง 1,834 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าต้นน้ำลำธารและแหล่งกำเนิดของลำห้วยใหญ่ๆ ที่สำคัญ โดยเฉพาะเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำฝาง และสาขาหนึ่งของน้ำแม่ลาว เช่น ห้วยแม่ฝางหลวง ห้วยแม่ฝางน้อย น้ำแม่ยางมิ้น

ลักษณะภูมิอากาศ
สภาพภูมิอากาศของอุทยานแห่งชาติดอยเวียงผา โดยทั่วไปประกอบด้วย 3 ฤดู คือ ฤดูฝน ระหว่างช่วงเดือน พฤษภาคม-ตุลาคม โดยจะมีฝนตกหนักในช่วงเดือน กันยายน ฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ เป็นช่วงอากาศเย็นสบายเหมาะสำหรับเดินทางมาท่องเที่ยว ฤดูร้อน ระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน ซึ่งจะเป็นช่วงที่อากาศค่อนข้างร้อน อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุด 11.8 องศาเซลเซียส และสูงสุด 36.3 องศาเซลเซียสในฤดูร้อน

พืชพรรณและสัตว์ป่า
สภาพป่าประกอบด้วย ป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง ป่าสนเขา ป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ ซึ่งป่าแต่ละชนิดเหล่านี้จะอยู่กระจัดกระจายทั่วไป ในเขตอุทยานแห่งชาติตามระดับความสูงของพื้นที่ พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ สัก ยาง ประดู่ ตะแบก เต็ง รัง จำปีป่า สนสามใบ ก่อชนิดต่างๆ มอส เฟิน กล้วยไม้ นอกจากนี้ยังมีพันธุ์ไม้ที่สำคัญและหายากของเมืองไทยอาทิ เช่น มณฑาดอย กุหลาบพันปี กายอม ซึ่งสามารถพบเห็นได้บนยอดดอยเวียงผา
เนื่องจากสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ และขึ้นผสมปะปนกันอยู่หลายชนิด ตลอดจนระดับความสูงของพื้นที่ที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ 300-1,834 เมตร จึงทำให้เกิดแหล่งอาหารและเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด ประกอบด้วย เก้ง หมูป่า เลียงผา เสือไฟ หมีควาย เม่น กระต่ายป่า ลิง อีเห็น กระรอก กระแต และนกนานาชนิด เช่น นกกงเขนดง นกพญาไฟ นกโพระดก นกกินปลี นกหัวขวาน ไก่ป่า และที่สำคัญยังสามารถพบเห็นสลาแมนเดอร์ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ซึ่งเป็นดัชนีวัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ

สิ่งที่น่าสนใจของอุทยานแห่งชาติดอยเวียงผา คือ
น้ำตกแม่ฝางหลวง
น้ำตกดอยเวียงผา
น้ำตกห้วยหาน
น้ำตกตาดเหมย
จุดชมวิวบนดอยเวียงผา

การเดินทาง
อุทยานแห่งชาติดอยเวียงผา เดินทางจากจังหวัดเชียงใหม่ใช้ทางหลวงหมายเลข 107 ไปทาง อ.ไชยปราการ ถึง กม.ที่ 125 บ้านแม่ขิ เลี้ยวขวาไปตามทางอีก 10 กม. จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยเวียงผา

ค่าธรรมเนียมในการเข้าชมอุทยานแห่งชาติดอยเวียงผา
ผู้ใหญ่ คนละ 20-80 บาท (ขึ้นอยู่กับอุทยานฯ)
เด็ก คนละ 10-40 บาท (ขึ้นอยู่กับอุทยานฯ)
กรณีเป็นเด็กอายุต้องต่ำกว่า 14 ปี แต่ถ้าอายุต่ำกว่า 3 ปี จักไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียม
กรณีเป็นนักเรียน นิสิต นักศึกษา ให้เก็บค่าธรรมเนียมในอัตราสำหรับเด็ก

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
อุทยานแห่งชาติดอยเวียงผา
ตู้ ปณ. 14 ปณจ.ไชยปราการ อ. ไชยปราการ จ. เชียงใหม่ 50320
โทรศัพท์ 0 7186 2118 อีเมล reserve@dnp.go.th

อุทยานแห่งชาติแม่โถ

อุทยานแห่งชาติแม่โถ

ข้อมูลทั่วไป
พื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่โถตั้งอยู่บนแนวเทือกเขาสูงที่ทอดตัวยาวต่อเนื่องมาจากดอยอินทนนท์ มีสภาพป่าที่สมบูรณ์และหลากหลายประเภท เหมาะสำหรับการชมธรรมชาติและเที่ยวเล่นน้ำตก อุทยานแห่งชาติแม่โถครอบลุมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 306,731 ไร่ หรือ 490.77 ตารางกิโลเมตร ในท้องที่อำเภอฮอด อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่
ในปี พ.ศ. 2517 กรมป่าไม้โดยกองอนุรักษ์ต้นน้ำ ได้ทำการสำรวจพื้นที่ล่อแหลมและพื้นที่ ถูกบุกรุกทำลายป่าจากชาวบ้านในบริเวณพื้นที่ต้นน้ำลำธารทางภาคเหนือ และมีโครงการที่จะปลูกป่าเพื่อปรับปรุง พื้นที่ต้นน้ำที่ถูกทำลายให้กลับฟื้นคืนสภาพป่าดังเดิม โดยกำหนดให้มีโครงการจัดตั้งหน่วยพัฒนาและปรับปรุงต้นน้ำขึ้น จำนวน 10 หน่วย และได้ดำเนินการจัดตั้งหน่วยพัฒนาต้นน้ำที่ 6 (ดอยแม่โถ) ขึ้นที่บ้านแม่โถ หมู่ที่ 1 ตำบลบ่อสลี อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ดำเนินการปลูกป่าในบริเวณพื้นที่ภูเขาสูงที่เป็นต้นน้ำลำธารที่ถูกทำลาย จนถึงปี พ.ศ. 2523 ได้ปลูกป่าเต็มพื้นที่ตามแผนงาน จึงได้ย้ายหน่วยย่อยแยกไปดำเนินการปลูกป่าที่ตำบลแม่ตื่น อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ โดยในพื้นที่ที่ปลูกป่าเต็มตามแผนงานแล้ว ยังคงดำเนินการตามแผนงานการบำรุงป่าต่อไป
ต่อมาในปี พ.ศ.2534 กรมป่าไม้ได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ไปดำเนินการสำรวจบริเวณพื้นที่ของหน่วยพัฒนาต้นน้ำที่ 6 และบริเวณใกล้เคียงเพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ และให้ชื่อว่า “อุทยานแห่งชาติแม่โถ” อุทยานแห่งชาติแม่โถได้นำเรื่องราวการสำรวจพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าขุนแม่ลาย อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ และป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่แจ่ม อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งได้มีมติการประชุมเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2536 เห็นชอบให้กรมป่าไม้ดำเนินการสำรวจเพื่อจัดตั้งอุทยานแห่งชาติแม่โถ ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการสำรวจแนวเขตอุทยานแห่งชาติ

ลักษณะภูมิประเทศ
อุทยานแห่งชาติแม่โถ มีพื้นที่อยู่ระหว่างเส้นลองติจูดที่ 18 องศา 07 ลิปดา ถึง 18 องศา 29 ลิปดา เหนือ และเส้นละติจูดที่ 98 องศา 8.5 ลิปดา ถึง 98 องศา 24 ลิปดาตะวันออก มีเนื้อที่ประมาณ 990 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 618,750 ไร่ อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ลาย อำเภอฮอด และป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่แจ่ม อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่โถ ตั้งอยู่ที่หน่วยพัฒนาต้นน้ำที่ 6 (ดอยแม่โถ) เดิม ในท้องที่บ้านเลาลี หมู่ที่ 9 (แยกหมู่บ้านมาจากบ้านแม่โถ หมู่ที่ 1) ตำบลบ่อสลี อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่
อาณาเขตทิศเหนือจดเส้นทาง รพช. สายแม่แจ่ม-บ้านพุย อำเภอแม่แจ่ม ทิศใต้จดทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 (ฮอด-แม่สะเรียง) และห้วยแม่ลอด ทิศตะวันออกจดอุทยานแห่งชาติออบหลวง และบางส่วนของทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1088 ทิศตะวันตกจดเขตอำเภอแม่สะเรียง และอำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
พื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่โถโดยทั่วไปเป็นภูเขาสูงชันสลับซับซ้อน ทอดยาวตามแนวเหนือ-ใต้ อยู่แนวเดียวกับเทือกเขา ดอยอินทนนท์ มีความสูงตั้งแต่ 400-1,699 เมตรจากระดับน้ำทะเล โดยจะมีความสลับซับซ้อนและลาดชันจากทิศใต้ขึ้นไปทางทิศเหนือ กล่าวคือ ทางทิศใต้จะมีความสลับซับซ้อนน้อยกว่าและความลาดชัน เฉลี่ยน้อยโดยเฉลี่ยประมาณ 15-20% ส่วนทางทิศเหนือของพื้นที่จะมีความลาดชันมากขึ้นไปตามลำดับประมาณ 20-48% มีความสูงเฉลี่ยประมาณ 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล มียอดเขาที่สูงที่สุดคือ ยอดดอยกิ่วไร่ม้ง อยู่ในท้องที่บ้านปางหินฝน ตำบลปางหินฝน อำเภอแม่แจ่ม โดยมีความสูง 1,699 เมตรจากระดับน้ำทะเล ส่วนที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่โถตั้งอยู่ที่ความสูงประมาณ 1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล

ลักษณะภูมิอากาศ
ลักษณะภูมิอากาศโดยทั่วไปมี 3 ฤดู คือ ฤดูฝน ระหว่างเดือนพฤษภาคม-กันยายน อุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุด 25 องศาเซลเซียส และต่ำสุด 10 องศาเซลเซียส ฤดูหนาว ระหว่างเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์ อุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุด 20 องศาเซลเซียส และต่ำสุด 4 องศาเซลเซียส ฤดูร้อนระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน อุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุด 30 องศาเซลเซียส และต่ำสุด 12 องศาเซลเซียส อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปี สูงสุดประมาณ 27 องศาเซลเซียส และต่ำสุดประมาณ 8 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งปี 1,030 มิลลิเมตร/ปี

พืชพรรณและสัตว์ป่า
ชนิดป่าและพันธุ์ไม้ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติแม่โถ ประกอบด้วย ป่าดิบชื้น พบทางด้านทิศเหนือของพื้นที่ในเขตอำเภอแม่แจ่ม พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ ตะเคียนทอง ยาง จำปีป่า ยมหอม มะม่วงป่า เติม ตะคร้ำ ตีนเป็ด พืชพื้นล่างประกอบด้วย ตะคร้าน หมากเต้า พลูดิน เครือต่วย และกระชายป่า ป่าดิบเขา พบในระดับความสูงจากน้ำทะเล 800-1,400 เมตร พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ ก่อแพะ ก่อเดือย ก่อตาหมู รักใหญ่ จำปาป่า พืชพื้นล่างประกอบด้วย หญ้าคมบาง ถั่วแระป่า ค้างคาวดิน สาบหมา เป็นต้น ป่าเบญจพรรณ พบโดยทั่วไปสลับกับป่าดิบเขา พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ สัก แดง ประดู่ ตะแบก เสลา ตะเคียนหนู ยาง พืชพื้นล่างประกอบด้วยพวกไม้ไผ่และหญ้า ป่าสนเขาและป่าเต็งรัง พบโดยทั่วไปส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่อำเภอฮอด จะเห็นป่าสนเขาขึ้นปะปนกับป่าเต็งรัง พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ สนสามใบ ก่อ เหมือด รักใหญ่ เต็ง รัง เหียง พลวง พืชพื้นล่างประกอบด้วย หญ้าเพ็ก ไผ่โจด และหญ้าอื่นๆ
พันธุ์สัตว์ป่าที่สำคัญ ได้แก่ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ประกอบด้วย กระทิง กวางป่า เลียงผา เก้ง หมีควาย ชะนี ลิง ค่าง อีเห็น กระต่ายป่า หมูป่า และช้างป่า ซึ่งมักจะอพยพหากินไปยังเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อยสลับกับดงสามหมื่นและป่าแม่ปาย นก ประกอบด้วย นกยูง ไก่ฟ้าชนิดต่างๆ ไก่ป่า นกแก้ว นกขุนทอง นกขุนแผน เหยี่ยว นกหัวขวาน ฯลฯ สัตว์เลื้อยคลาน ประกอบด้วยงูเหลือม งูหลาม งูเห่า ตะกวด แย้ เต่า ตะพาบน้ำ ฯลฯ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ประกอบด้วย กบชนิดต่างๆ เขียด อึ่งอ่าง ฯลฯ ปลา ยังไม่มีการสำรวจ จะมีปลาอยู่ตามลำห้วยและแม่น้ำต่าง ๆ โดยเฉพาะน้ำแม่แจ่มมีปลามากมายหลายชนิด

แหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ

จุดชมทิวทัศน์ดอยแม่โถ
อยู่บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติ สามารถมองเห็นทัศนียภาพของเทือกเขาและผืนป่าได้กว้างไกล ช่วงฤดูหนาวจะมีทะเลหมอกยามเช้าปกคลุมอย่างสวยงาม ณ จุดชมวิวแห่งนี้เคยเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเสด็จแม่โถประมาณ พ.ศ. 2523 เส้นทางในการเดินทาง ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 จากฮอดไปแม่สะเรียง ถึง กม.ที่ 54 บ้านกองลอย แยกขวามือไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1270 ถึงบ้านเลาลี ระยะทาง 16 กิโลเมตร แยกขวามือเข้าไปอีก 500 เมตร ก็จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่โถ

น้ำตกแม่แอบ
ใช้เส้นทางเดียวกับเส้นทางไปจุดชมทิวทัศน์ อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่โถ ไปจนถึงบ้านแม่แอบ ระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร มีเส้นทางแยกจากบ้านแม่แอบไปอีกประมาณ 3 กิโลเมตร ถึงจุดจอดรถ เดินเท้าอีกประมาณ 1 กิโลเมตร จะมีน้ำตกที่มีความกว้างประมาณ 10-12 เมตร

น้ำตกแม่ลิด
ตามเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 (ฮอด-แม่สะเรียง) ไปจนถึงหลักกิโลเมตรที่ 63 แยกซ้ายไปตามเส้นทางเข้าหมู่บ้านทุ่งหลวง ระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร ถึงบ้านทุ่งหลวงแล้วเดินเท้าจากหมู่บ้าน ไปอีกประมาณ 500 เมตร จะมีน้ำตกที่มีความกว้างประมาณ 8-10 เมตร มีความสูงประมาณ 12-15 เมตร เป็นน้ำตกที่มีความสวยงามมาก

ล่องแก่งลำน้ำแม่แจ่ม
จากเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 (ฮอด-แม่สะเรียง) แยกเข้าทางหลวงจังหวัด หมายเลข 1088 เส้นทางไปอำเภอแม่แจ่มถึงบ้านนาบางดิน เดินทางต่อไปจนถึงหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ มถ.2 (สลักหิน) ระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการล่องแก่งไปตามลำน้ำแม่แจ่ม แล้วไปขึ้นฝั่งที่บ้านกองแป ตำบลท่าผา อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่


กิจกรรมท่องเที่ยว เส้นทางสายบ้านแม่ปิงน้อย-สบแม่ตูม-สบห้วยกองแป
เดินทางโดยรถยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อ ไปตามเส้นทางสายบ้านแม่ปิงน้อย-บ้านอมแรด แวะเที่ยวชม น้ำตกห้วยแม่เจือ แล้วเดินทางโดยรถยนต์ไปจนถึงบ้านอมแรด โดยให้รถยนต์กลับไปรอที่ทำการอุทยานแห่งชาติ และพักค้างแรมที่ริมแม่น้ำตูม จากนั้นเดินทางไปชม ถ้ำหลวงแม่ตูม ภายในมีหินงอกหินย้อยรูปทรง คล้ายเสาหินในวิหารโบราณ รอบ ๆ เสาหินจะมีหินงอกมองดูคล้ายเทวรูปมีลักษณะแปลกประหลาดสวยงามมาก มีค้างคาวอาศัยอยู่ภายในถ้ำเป็นจำนวนมาก จากนั้นเดินทางล่องตามลำน้ำแม่ตูมเที่ยวชมธรรมชาติของสภาพป่าเบญจพรรณที่ขึ้นสลับกับสภาพป่าเต็งรัง บริเวณของสองฝั่งแม่น้ำตูมมีลักษณะคล้ายต้นกระบอกเพชรขึ้นอยู่ทั่วไป ในลำน้ำแม่ตูมจะมีแก่งเล็กตลอดลำน้ำไปจนถึงสบห้วยแม่ตูม ซึ่งเป็นจุดที่ลำน้ำแม่ตูมไหลมาบรรจบกับลำน้ำแม่แจ่ม ต่อจากนั้นเดินทางล่องตามลำน้ำแม่แจ่มเพื่อเที่ยวชมสภาพป่าเบญจพรรณที่สมบูรณ์


เส้นทางสายบ้านแม่ขาน-สบแม่ตูม-สบห้วยกองแป
เส้นทางนี้เหมาะสำหรับการท่องเที่ยวในลักษณะการล่องแพพิชิตแก่งต่างๆ ในลำน้ำแม่แจ่ม โดยเริ่มต้นล่องแพจากจุดตรวจสอบแม่ขาน หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ มถ.2 (หน่วยสลักหิน) ผ่านแก่งสบขาน แก่งคอม้า แก่งท่าเรือ แก่งคด แก่งหลวง แก่งออบ หาดเชียงดา วังควายเผือก หมู่บ้านสบลองชมความงามของธรรมชาติของหน้าผา และสภาพป่าสองฝั่งลำน้ำแม่แจ่ม ผ่านสบแม่ตูมจนสิ้นสุดการเดินทางท่องเที่ยวโดยการล่องแพ รวมเป็นระยะทางประมาณ 25 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาประมาณ 11-12 ชั่วโมง


กิจกรรมการบริการและการเตรียมการ
ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อขอเช่าแพยางได้จากสวนป่าแม่แจ่ม อุทยานแห่งชาติออบหลวง และของเอกชน แต่การล่องแพในเส้นทางนี้จะต้องได้รับอนุญาตจากอุทยานแห่งชาติแม่โถก่อน


สิ่งอำนวยความสะดวก
บ้านพักอุทยานแห่งชาติ ยังไม่มีบ้านพักนักท่องเที่ยว แต่ทางอุทยานมีบ้านพักรับรองจำนวน 4 หลัง รองรับผู้เข้าพักประมาณ 30 คน ขอให้ติดต่อสอบถามกับอุทยานแห่งชาติโดยตรง โทร 09 - 558 9913
สถานที่กางเต็นท์/เต็นท์ อุทยานแห่งชาติ มีสถานที่กางเต็นท์ให้บริการนักท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นอุทยานแห่งชาติจัดตั้งใหม่ หากสนใจที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวที่อุทยานแห่งชาติ ท่านต้องจัดเตรียมเต็นท์และอาหารไปเอง รายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่กางเต็นท์ขอให้ติดต่อสอบถามกับอุทยานแห่งชาติโดยตรง


การเดินทาง
รถยนต์
จากตัวเมืองเชียงใหม่ เดินทางไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 102 (เชียงใหม่-ฮอด) ระยะทาง 89 กิโลเมตร ถึงอำเภอฮอด แล้วไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 (ฮอด-แม่สะเรียง) ผ่านที่ทำการอุทยานแห่งชาติออบหลวง ระยะทาง 54 กิโลเมตรถึงบ้านกองลอย แล้วเดินทางแยกขวาไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1270 (บ้านกองลอย-บ้านแม่โถ) ระยะทาง 16 กิโลเมตร จะถึงทางแยกเข้าที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่โถ ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากทางแยกประมาณ 500 เมตร


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
อุทยานแห่งชาติแม่โถ
ตู้ ปณ.10 ปณจ.ฮอด อ. ฮอด จ. เชียงใหม่ 50240
โทรศัพท์ 0 5381 8348 อีเมล maetho.np@hotmail.com

อุทยานแห่งชาติศรีลานนา

อุทยานแห่งชาติศรีลานนา
ข้อมูลทั่วไป
อุทยานแห่งชาติศรีลานนา มีพื้นที่รับผิดชอบ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่แตง อำเภอเชียงดาว อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วยสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์และเป็นป่าต้นน้ำลำธารที่สำคัญของแม่น้ำปิงตอนบน มีสัตว์ป่า นานาชนิด และจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงาม เช่น น้ำตกม่อนหินไหล อ่างเก็บน้ำของเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เป็นอุทยานแห่งชาติ 1 ในจำนวน 5 แห่ง ของโครงการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ เพื่อการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ วันที่ 5 ธันวาคม 2530 มีเนื้อที่ประมาณ 878,750 ไร่ หรือ 1,406 ตารางกิโลเมตร
เดิมบริเวณที่ดินป่าเชียงดาว ป่าแม่งัด และป่าแม่แตง จัดเป็นป่าต้นน้ำลำธารชั้น 1 ตามมติคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 14 มกราคม 2518 และเป็นป่าปิดตามมติคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 9 มกราคม 2522 ในเดือนมีนาคม 2524 กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้มีคำสั่งที่ 280/2524 ลงวันที่ 6 มีนาคม 2524 ให้นายสันติ สีกุหลาบ นักวิชาการป่าไม้ 4 ออกไปสำรวจและเก็บข้อมูลพื้นที่ป่าบริเวณดอยเวียงผา จังหวัดเชียงใหม่ ตามที่ นายอรุณ สำรวจกิจ มีจดหมายลงวันที่ 14 มกราคม 2524 ถึงอธิบดีกรมป่าไม้
ต่อมาในเดือนมกราคม พ.ศ. 2526 กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้มีคำสั่งที่ 1/2526 ลงวันที่ 3 มกราคม 2526 ให้นายไมตรี อนุกูลเรืองกิจ เจ้าพนักงานป่าไม้ 3 ไปสำรวจหาข้อมูลเพิ่มเติมบริเวณดอยเวียงผา และบริเวณน้ำตกม่อนหินไหล จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อนำมาเป็นข้อมูลจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งต่อมากองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้มีคำสั่งที่ 293/2528 ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2528 ให้นายอรุณ เหลียววนวัฒน์ นักวิชาการป่าไม้ 4 ไปดำเนินการสำรวจและจัดตั้งบริเวณป่าแม่กอง ป่าแม่งัด ป่าเชียงดาว และป่าฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอุทยานแห่งชาติ ผลการสำรวจตามรายงานหนังสือ ที่ กษ 0713(ดก)/1 ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2528 ปรากฏว่า พื้นที่การสำรวจทั้งหมดอยู่ในพื้นที่ป่าแม่แตง (บางส่วน) ป่าแม่งัด (บางส่วน) และป่าเชียงดาว (บางส่วน) มีสภาพป่าและธรรมชาติเหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ
กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ มีมติในการประชุมครั้งที่ 2/2529 เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2529 เห็นชอบให้ดำเนินการจัดตั้งพื้นที่บริเวณป่าเหนืออ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอุทยานแห่งชาติเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนพรรษา 5 รอบ กองอุทยานแห่งชาติ ได้จัดตั้งบริเวณดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยใช้ชื่อว่า “อุทยานแห่งชาติศรีลานนา” และเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2529 ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางตรวจเยี่ยมอุทยานแห่งชาติศรีลานนา จังหวัดเชียงใหม่ เห็นชอบกับโครงการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติดังกล่าว ทั้งได้มีบัญชาและกำชับว่า “ให้ดูแลรักษาป่าให้ดีอย่าปล่อยให้มีการบุกรุกทำลายจนสภาพป่าไม้ธรรมชาติสวยงาม และสิ่งแวดล้อมต้องสูญเสียไป” ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้รับทราบโครงการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติเพื่อเฉลิมพระเกียรติแล้ว ตามหนังสือสำนักเลขาธิการรัฐมนตรี ที่ นร 0202/21487 ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2530
ส่วนอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ดำเนินการออกประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าเชียงดาว ป่าแม่งัด และป่าแม่แตง ในท้องที่ตำบลปิงโค้ง ตำบลเชียงดาว ตำบลแม่นะ อำเภอเชียงดาว ตำบลสันทราย ตำบลป่าไหน่ ตำบลบ้านโป่ง ตำบลน้ำแพร่ ตำบลป่าตุ้ม ตำบลแม่แวน ตำบลแม่ปั๋ง ตำบลโหล่งขอด อำเภอพร้าว ตำบลบ้านเป้า ตำบลช่อแล ตำบลแม่หอพระ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ให้เป็นอุทยานแห่งชาติตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 106 ตอนที่ 120 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2532 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 60 ของประเทศ มีเนื้อที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของภาคเหนือ หรือใหญ่เป็นอันดับ 8 ของประเทศ

ลักษณะภูมิประเทศ
สภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูง สลับซับซ้อน ติดต่อกันกว้างขวางของทิวเขาผีปันน้ำ ประกอบด้วย ดอยเวียงผา ดอยหลวง ดอยปุย ดอยปันวา ดอยผาเกี๋ยง ดอยขุนโก๋น ดอยแม่ระงอง ดอยแม่แงะ และดอยโตน มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 400-1,718 เมตร โดยมียอดดอยจอมหด เป็นยอดดอยที่สูงที่สุดในเขตอุทยานแห่งชาติ เป็นต้นน้ำลำธารของลำห้วยต่างๆ ที่ไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล และแม่น้ำปิงตอนบน ได้แก่ น้ำแม่งัด น้ำแม่โก๋น น้ำแม่แวน น้ำแม่สะรวม น้ำแม่ธาตุ และน้ำแม่ขอด

ลักษณะภูมิอากาศ
ลักษณะภูมิอากาศในเขตอุทยานแห่งชาติศรีลานนา อยู่ในภูมิอากาศแบบฝนตกชุกสลับแห้งแล้งในเขตร้อน แบ่งออกเป็น 3 ฤดูกาล คือ ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน-เดือนตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,156 มิลลิเมตรต่อปี ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-เดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม-เดือนพฤษภาคม อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 26 องศาเซลเซียส

พืชพรรณและสัตว์ป่า
สังคมพืชในอุทยานแห่งชาติศรีลานนาประกอบด้วย
ป่าเต็งรัง เป็นสังคมพืชที่ปกคลุมพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติมากที่สุด กระจายอยู่ในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 200-1,200 เมตร และในระดับ 800-1,200 เมตร จะพบสนสองใบและสนสามใบขึ้นปะปนกับป่าเต็งรัง พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ เต็ง รัง เหียง พลวง รักใหญ่ เคาะ ก่อแพะ เหมือดหลวง ฯลฯ พืชพื้นล่างได้แก่ กระเจียวแดง เครือข้างครั่ง พ่อค้าตีเมีย ย่านลิเภา เฟินก้านดำ มะแฮะนก เขิงแข้งม้า เครือเดา เอื้องสาย เอื้องผา และเอื้องม้าวิ่ง เป็นต้น

ป่าเบญจพรรณ พบอยู่ตามพื้นที่หุบเขาหรือริมห้วย พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ สัก มะแฟน รกฟ้า ตะคร้อ แสลงใจ เครือไหล เปล้าหลวง ตะแบกใหญ่ ปอยาบ ไผ่ซาง ไผ่ข้าวหลาม ไผ่บงป่า ไผ่ไร่ และไผ่รวก ฯลฯ พืชพื้นล่างได้แก่ ขมิ้นป่า เฟิน ว่านสากเหล็ก เองหมายนา บุกคางคก เป็นต้น

ป่าดิบแล้ง พบขึ้นอยู่ตามร่องห้วยและหุบเขาที่ชื้นอยู่ตลอดปี พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ ยางแดง มะเม่าสาย ตะแบกเปลือกบาง มะตาด ดำดง เลือดควายใบใหญ่ ไผ่หอบ ไผ่หก ต๋าว ฯลฯ พืชพื้นล่างได้แก่ เครือไหล ก๋าวเครือ หนามปู่ย่า เครือพันซ้าย เครือนมวัว หยั่งสมุทร หวาย ข่าป่า เป็นต้น

ป่าสนเขา พบตามสันเขาที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 800 เมตรขึ้นไป พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ สนสองใบ สนสามใบ ดาวราย ก่อหมาก มะม่วงหัวแมลงวัน ส้มปี้ แข้งกวาง ฯลฯ พืชพื้นล่างได้แก่ อ้าหลวง หนาดคำ ย่านลิเภา เฟินก้านดำ เป็นต้น

ป่าดิบเขา ขึ้นปกคลุมพื้นที่ชุ่มชื้นและเย็นตามขอดเขาที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,000 เมตรขึ้นไป พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ ทะโล้ กำยาน หน่วยนกงุ้ม มะห้า รักเขา มันปลา ก่อพวง ก่อขาว มะขามแป ฯลฯ พืชพื้นล่างได้แก่ กระเจียวแดง เครือข้างครั่ง พ่อค้าตีเมีย ย่านลิเภา เฟินก้านดำ มะแฮะนก และหญ้าต่างๆ เป็นต้น

สัตว์ป่าประกอบด้วย เก้ง อ้นกลาง เม่นหางพวง หมาไน ชะมดเช็ด อีเห็นเครือ แมวป่า กระต่ายป่า กระรอกหลากสี หนูท้องขาว ค้างคาวขอบหูขาวกลาง ค้างคาวหน้ายาวใหญ่ นกกะลิงเขียด นกกาแวน อีกา นกจับแมลงจุกดำ นกขมิ้นน้อยธรรมดา นกนิลตวาท้องสีส้ม นกกางเขนดง นกยอดหญ้าหัวดำ นกกระจิบธรรมดา นกกระจิ๊ดเขียวปีกสองแถบ นกกินแมลงป่าอกสีน้ำตาล งูทางมะพร้าวลายขีด งูสิงบ้าน จิ้งจกดินจุดลาย ตุ๊กแกบ้าน กิ้งก่าบินคอสีส้ม กบบัว เขียดจะนา อึ่งอ่างบ้าน อี่งแม่หนาว คางคกบ้าน ปาดแคระป่า เป็นต้น ในบริเวณที่ลุ่ม แหล่งน้ำ และอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและหากินของสัตว์น้ำและสัตว์ป่าหลากชนิด ได้แก่ นกกะเต็นน้อยธรรมดา นกเป็ดแดง กบนา กบหนอง อึ่งอี๊ดข้างขีด ปลาจาด ปลาแม่แปป ปลาซิวหนวดยาว ปลาเวียน ปลาเข็ม ปลาบู่ ปลาสร้อยขาว
ต้องขอขอบคุณ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธ์พืช , www.mistertour.com และ www.siamsouth.com สำหรับข้อมูลและรูปภาพที่มีประโยชน์ต่อบุคคลที่ต้องการท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อน หรือ ต้องการข้อมูลเพื่อการศึกษา สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

อุทยานแห่งชาติศรีลานนา
ต.บ้านเป้า อ. แม่แตง จ. เชียงใหม่ 50150
โทรศัพท์ 0 5347 9090, 0 5347 9079 โทรสาร 0 5347 9090 อีเมล reserve@dnp.go.th